ไหล่ติด “肩周炎”

                ไหล่ติดแม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ก็เป็นอาการป่วยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การหยิบจับสิ่งของ การสวมใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ รับประทานอาหารเป็นต้น

  • สาเหตุ

เกิดจากการอักเสบ การหนาตัวและการหดรั้งของเนื้อเยื่อ เส้นเอ็นรอบหัวไหล่ อาจเกิดได้เองโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ กระดูกหัก โรคกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มทำให้เกิดอาการไหล่ติด เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบได้ทั้งในผู้สูงอายุและวัยรุ่นที่ใช้งานข้อไหล่มาก

  • อาการ

มีอาการเจ็บหรือปวดบริวณหัวไหล่ ปวดมากตอนกลางคืน ข้อไหล่เคลื่อนไหวติดขัด ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเอง หรือจับให้เคลื่อนไหวโดยผู้อื่น ทำให้ยกแขน กางแขน หรือเอามือไขว้หลังได้ไม่สุด คนไข้ไม่กล้าเคลื่อนไหวหัวไหล่ หากไม่ได้รับการรักษานานวันเข้าจะยิ่งทำให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้น้อยลงเรื่อยๆ จนถึงขยับไม่ได้ อาจพบกล้ามเนื้อลีบร่วมด้วย

แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1.ระยะปวด มีอาการปวดมาก พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่เริ่มลดลง ในระยะนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-9 เดือน

2.ระยะข้อไหล่ติด อาการปวดลดลง ข้อไหล่จะติดมากขึ้นชัดเจนทุกทิศทาง ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระยะนี้นานแตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปีครึ่ง

3.ระยะฟื้นตัว โดยธรรมชาติจะรักษาตัวเอง เป็นช่วงที่องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆดีขึ้น อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 ปี ซึ่งในบางรายอาจดีขึ้นไม่มาก หรือใช้เวลานาน ดังนั้นการได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกต้องจึงสำคัญมาก เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมากที่สุด

  • ในมุมมองของแพทย์แผนจีน
  • สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน อธิบายว่า รอยโรคเกิดขึ้นที่เส้นลมปราณและเส้นเอ็น มักพบในคนอายุ50ปีขึ้นไป เกิดจาก

  1. ผู้สูงอายุร่างกายเสื่อมถอย ชี่และเลือดพร่อง ไปเลี้ยงเส้นเอ็นและกระดูกได้ไม่เพียงพอ หลังจากใช้งานอาการปวดจะมากขึ้น เวียนศีรษะ หน้ามืด แขนขาไม่มีแรง
  2. พฤติกรรม ใช้งานข้อไหล่หนักเกินไป ซ้ำๆเป็นเวลานาน ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ เส้นเอ็นฉีกขาด ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เป็นเวลานาน ทำให้การไหลเวียนของชี่ติดขัด เลือดคั่ง จะปวดแบบไม่ชอบให้กด
  3. ไหล่ถูกกระทบจากลมเย็น ทำให้เลือดและชี่ติดขัด เมื่อเจอลมเย็นกระทบจะปวดมากขึ้น แต่เมื่อเจอความอุ่นอาการปวดจะเบาลง กลัวหนาว กลัวลม

 สาเหตุพวกนี้ส่งผลให้เส้นลมปราณที่วิ่งผ่านหัวไหล่ติดขัดหรือขาดการหล่อลี้ยง เกิดอาการไหล่ติด

  • ตำแหน่งปวดจะบ่งบอกถึงเส้นลมปราณที่มีปัญหา

เส้นลมปราณมือไท่หยาง(ลำไส้เล็ก) : กดเจ็บชัดเจนบริเวณด้านหลังหัวไหล่

เส้นลมปราณมือหยางหมิง(ลำไส้ใหญ่) : กดเจ็บชัดเจนบริเวณด้านหน้าหัวไหล่

เส้นลมปราณมือเส้าหยาง(ซานเจียว) : กดเจ็บชัดเจนบริเวณหัวไหล่ด้านนอก

  • การรักษา

ฝังเข็ม กระตุ้นไฟฟ้า ครอบแก้ว รมยา นวดทุยหนา ยาสมุนไพรจีน

หลักการรักษาด้วยการฝังเข็ม: เน้นทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ขจัดลม บรรเทาปวด

มีการใช้จุดใกล้ จุดไกลในการรักษา มักจจะฝังจุดไกลก่อน กระตุ้นให้คนไข้เคลื่อนไหวหัวไหล่ไปด้วย

จุดหลัก เลือกใช้จุดรอบข้อไหล่ และจุดกดเจ็บเป็นหลัก

จุดเสริม เสริมจุดตามเส้นลมปราณที่มีปัญหา และกลุ่มอาการ

  • วิธีบริหารหัวไหล่

***สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดลดลงแล้ว

  1. ท่านิ้วไต่กำแพง

ยืนหลังตรงหันหน้าเข้าหากำแพง ยกแขนข้างที่ไหล่ติดขึ้นให้ศอกตึง ค่อยๆใช้นิ้วไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับเดินเข้าหากำแพงไต่ให้สูงเท่าที่ทำแล้วรู้สึกตึงเล็กน้อย ค้างไว้ นับ1-20 โดยไม่กลั้นหายใจเวลานับ จากนั้นค่อยๆ ไต่กำแพงลง นับเป็น 1ครั้ง ทำ10ครั้ง สามารถแบ่งทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียว จากนั้นทำเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นหันสีข้างเข้าหากำแพง หน้ามองตรงไม่หันไปมองกำแพง ไต่ผนังเหมือนเดิม 10ครั้ง

  • ท่าดึงผ้า

เอามือข้างที่ไหล่ติดไขว้หลังจับผ้าด้านหนึ่งไว้ แล้วพาดผ้าผ่านบ่าข้างที่ปกติ ใช้มือข้างที่ปกติจับผ้าอีกด้านหนึ่ง ค่อยๆดึงขึ้น ให้ไขว้ให้ได้มากที่สุดจนรู้สึกตึงเล็กน้อย ค้างไว้นับ1-20 จากนั้นค่อยๆผ่อนแรงดึงกลับท่าเดิม ทำ10ครั้ง จากนั้นทำเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นข้างที่ติดยกขึ้นทางด้านหน้าจับผ้าพาดผ่านหลัง ใช้มือข้างที่ปกติไขว้หลังมาจับผ้าอีกด้านนึงไว้ ค่อยๆดึง ทำ10ครั้ง

Mandarin Clinic โดย

พจ.วรวลัญช์  อัคคะชัยริน