การฝังเข็มสำหรับคนไทยเราแล้ว ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายโดยปราศจากข้อสงสัย อีกทั้งองค์การอนามัยโลกWHOได้ประกาศยอมรับผลการรักษาจากการฝังเข็มว่าเป็นศาสตร์ที่สามารถรักษาโรคให้หายได้ แต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะทำการรักษา ผู้ป่วยก็ควรต้องมีการเตรียมตัว ด้งนี้
1. เตรียมความพร้อมความเข้าใจไปรักษา
การฝังเข็มนั้นเป็นการรักษาที่มีลักษณะเป็น “หัตถการ” ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม จึงควรมาด้วยความมั่นใจต่อการรักษา ไม่กังวล หวาดวิตก เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆเกร็งตัว ส่งผลถึงความเจ็บปวดเมื่อฝังเข็มและผลการรักษามักจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก
2. การสวมใส่เสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายก่อนการมารักษา
ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นชุดแยกส่วนระหว่างเสื้อกับกระโปรงหรือกางเกงขาสั้น และไม่รัดแน่นเกินไป ในกรณีที่ต้องฝังเข็มบริเวณไหล่หรือต้นคอก็ควรสวมเสื้อที่มีคอกว้าง
การฝังเข็มเป็นหัตถการที่ต้องใช้เข็มฝังผ่านบริเวณผิวหนัง ผู้ป่วยจึงควรชำระร่างกายให้สะอาดก่อนการรักษาเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
ผู้ป่วยสตรีที่กำลังมีประจำเดือน สามารถรักษาด้วยการฝังเข็มได้ โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด การที่ไม่นิยมฝังเข็มในช่วงนี้เป็นเรื่องของความไม่สะดวกหรือความอายเสียส่วนใหญ่
3. รับประทานอาหารให้พอเหมาะ
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป และไม่ควรมารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้ง่ายเมื่อกระตุ้นเข็มแรง ๆ ทั้งนี้เพราะว่าร่างกายอาจขาดพลังงานที่จะเอามาใช้เผาผลาญ ในขณะที่ระบบประสาทและฮอร์โมนกำลังถูกกระตุ้นจากการฝังเข็ม
4. การบอกเล่าประวัติก่อนการรักษา
ผู้ป่วยควรจะบอกเล่าถึงประวัติส่วนตัว และประวัติความเจ็บป่วยที่ผ่านมา ว่าเคยเป็นโรคอะไรและรักษาด้วยวิธีการใดมาบ้าง อีกทั้งกำลังทานยาตัวใดอยู่หรือไม่ แพ้ยาและอาหารอะไรบ้าง บอกเล่าอาการให้แพทย์รับรู้อย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย วิเคราะห์ถึงสาเหตุของโรคอย่างแท้จริง และแม่นยำ
5. สงบกายและใจในขณะรักษา
เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับถูกมดกัด เมื่อแพทย์ปักถึงตำแหน่งจุดเฉพาะ หรือการกระตุ้นหมุนปั่นเข็ม ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อ ๆ เมื่อยๆ หนัก ๆ หรือชา เล็กน้อย ความรู้สึกดังกล่าวอาจจะแผ่ขยายเคลื่อนที่ออกไปตามแนวเส้นลมปราณก็ได้ หากเกิดความรู้สึกเช่นนี้ มักจะมีประสิทธิผลในการรักษาที่ดี
ในกรณีที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็ม มีการเต้นกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้น
โดยทั่วไปแล้ว ในระหว่างการฝังเข็มผู้ป่วยไม่ควรมีอาการเจ็บปวดหรือชามากจนเกินไป หากรู้สึกเจ็บผิดปกติ หรือรู้สึกเหมือนถูก “ไฟฟ้าช็อต” ควรรีบบอกแพทย์ทันที เพราะเข็มอาจจะไปแทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท หรือตำแหน่งของเข็มไม่ถูกต้อง หรือตั้งความแรงของกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นไม่เหมาะสมก็ได้
“ในระหว่างรักษา หากมีอาการผิดปกติหรือไม่สบายใด ๆ เกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หน้ามืด รู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม ให้รีบบอกแพทย์ผู้รักษาหรือผู้ช่วยแพทย์ทันที”
ขณะที่มีเข็มปักคาร่างกายนั้น ควรนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหว
การฝังเข็มนั้นเป็นการกระตุ้นระบบประสาทเพื่อปรับการทำงานของอวัยวะระบบ ต่าง ๆ ให้สู่สภาพสมดุล ถ้าหากมีสิ่งใดมารบกวนระบบประสาทมากไปในขณะที่กำลังกระตุ้น กลไกการปรับสมดุลของการฝังเข็มก็ย่อมจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย
ในระหว่างที่กำลังฝังเข็มอยู่นั้น ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกง่วงนอน เนื่องจาก การฝังเข็มสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่ง สารเอนดอร์ฟีน (endorphins) เกิดขึ้น สารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยกล่อมประสาทให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม เมื่อรักษาไปหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยบางคนจะพบว่าตนเองนอนหลับได้ง่ายขึ้นหรือหลับสนิทขึ้น และจิตใจก็จะสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
จากการสำรวจพบว่า มีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไปฝังเข็มด้วยเหตุผลเพื่อกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้สดชื่น ทั้งๆที่ ที่พวกเขาไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคอะไรเลยก็มี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะฤทธิ์ดังกล่าวนี่เอง
6. การปฏิบัติตัวหลังการรักษา
หลังจากฝังเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ตรงจุดที่ฝังเข็มเหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปถูกเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ เมื่อใช้สำลีกดเอาไว้สักครู่ เลือดก็จะหยุดได้เอง
หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหาร อาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีที่ติดหมุดคาใบหู เวลาอาบน้ำต้องระมัดระวังมิให้ใบหูเปียกน้ำ
โดยทั่วไปแล้วหลังจากฝังเข็ม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างไร สามารถขับรถหรือกลับไปทำงานได้ เว้นแต่บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลียได้บ้างหลังจากฝังเข็ม เมื่อนอนพักแล้วอาการอ่อนเพลียก็จะหายไป
7. การรักษาอื่น ๆ ร่วมกับการฝังเข็ม
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งมักจะต้องทานยาเฉพาะโรคอยู่เป็นประจำ หรือมีการรักษาอื่น ๆ เช่น กายภาพบำบัด ร่วมอยู่ด้วย
โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยการฝังเข็ม จะสามารถจะรับประทานยาหรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยได้ เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและผู้ป่วยเองก็จะหายป่วยได้ในเวลาอันรวดเร็ว
8. ข้อห้ามและข้อควรระวังสำหรับการฝังเข็ม
1. ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นกลัวเข็มในการรักษามากจนกล้ามเนื้อเกร็ง
2. ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อยหลังออกกำลังกายหนัก
3. สตรีตั้งครรภ์หลัง 3 เดือน
4. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาควรบอกให้แพทย์ทราบ แพทย์จะได้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
5. ทารกเด็กเล็ก ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้
6. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (pacemaker) ติดอยู่ในร่างกาย ห้ามรักษาโดยเครื่องกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า เพราะอาจรบกวนการทำงานของเครื่อง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ ยังคงสามารถปักเข็มกระตุ้นโดยวิธีการหมุนปั่นด้วยมือได้
“ข้อห้าม” ดังกล่าวเหล่านี้ มิใช่เป็นข้อห้ามอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น การฝังเข็มในผู้ป่วยโรคจิตก็อาจทำได้เหมือนกัน หรือกรณีเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือในการรักษาก็สามารถรักษาได้เช่นกัน ขอเพียงแต่เข้าใจถึงเหตุผลที่จะทำให้เกิดอันตราย เมื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง เราก็อาจพลิกแพลงฝังเข็มให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ได้
สงวนลิขสิทธิ์โดย แมนดารินคลีนิก